จริง ๆ มันมีหลายมุมมองมาก ๆ อยู่ที่เรามองมุมไหน?

“ถ้าเรามองมุมแบบคุ้มไม่คุ้ม” เรื่องความคุ้มก็คือเหมือนเรื่องการลงทุน คือถ้าเราลงแล้วเราได้กำไร เราก็ถือว่าคุ้ม ใช่ไหม? ถ้าเราลงแล้วขาดทุนก็ถือว่าไม่คุ้ม แต่ทีนี้สมมติเราลงแล้วไม่ได้กำไร แต่แบรนด์เราดังขึ้น มีความน่าเชื่อถือขึ้น อย่างนี้เราเรียกคุ้มหรือเปล่า?

“บางคนอาจจะบอกว่าคุ้ม”

“บางคนอาจจะบอกว่าคำว่าดัง คำว่ามีคนเชื่อถือขึ้น มันจับต้องไม่ได้มันเหมือนลอย ๆ วัดไม่ได้

เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเขาเชื่อเราหรือไม่เชื่อเราหรือว่าแบรนด์เราดังแค่ไหน! จริง ๆ มันพอจะมีวิธี แต่ว่าถ้าเราทำแบบเล็ก ๆ มันก็ยากหน่อย ถ้าทำใหญ่ ๆ มันจะมีเครื่องมือวัดความดังเรา ดังนั้น

ถ้าเอาเบื้องต้นก่อน ถ้าในมุม SME ถ้าถามผมคือการจ้าง เน็ตไอดอล เราก็ควรคิดว่าครั้งนี้เราจะเอาคุ้มเป็นตัวเงินไหม ถ้าเราจะเอาคุ้มเป็นตัวเงินเดี๋ยวต้องบอกก่อนนะว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Influencer แต่ว่าเคยไปเกี่ยวข้องเคยไปอะไรมันเยอะ แล้วก็ตาม Logic มันก็ควรจะเป็นอย่างนี้

หนึ่งก็คือ Influencer คนนั้น เขามีคนติดตามมากน้อยแค่ไหน แล้วคนที่ติดตามเขา เขาติดตามเรื่องอะไร มันเรื่องเดียวกับของเราหรือเปล่า?

ถ้าเขาติดตามเรื่องการเงินแล้วเราเป็นสินค้าเกี่ยวกับการเงิน อย่างนี้มันก็เป็นพวกเดียวกันใช่ไหม

ถ้าเขามีคนติดตามเรื่อง ความสวยความงามวิธีการแต่งหน้า แล้วเราเป็น Cosmetic เกี่ยวกับการแต่งหน้า อย่างนี้มันก็คือพวกเดียวกัน

เราก็ต้องดูเขาว่า เขามีคนติดตามมากน้อยขนาดไหน มีพันคน หมื่นคน แสนคน ล้านคน ซึ่งในหลักปฏิบัติตอนนี้ เขาจะคิดราคาเบื้องต้นจากจำนวนคนกดไลค์เพจ เช่น ถ้าแสนคนจะคิดเท่านี้ ถ้าหมื่นคนจะคิดเท่านี้ อะไรอย่างนี้ต่อโพสต์

ทีนี้ คำถามต่อมาก็คือ เราดูแต่คนกดไลค์อย่างเดียวไม่ได้ใช่ไหม เราต้องคิดต่อว่าถ้าเขาโพสต์สินค้าเราลงไป มันน่าจะมีคนเห็นกี่คน สมมติไม่ใช่ว่าคนกดไลค์เป็นล้าน แต่พอโพสต์ลงไปคนเห็นแค่ไม่กี่พันหรือไม่กี่หมื่น แต่ว่าคิดเงินเราเป็นแสน อะไรอย่างนี้ ดังนั้น

ถ้าเรารู้ตรงนี้และถ้าเราพอจะประมาณการณ์ได้ หรือเขาพอจะโชว์ตัวเลขเราได้ เราก็จะรู้ว่าระหว่าง เราจ่ายเงินยิงโฆษณาเองกับเราให้เขาโพสต์ ในแง่ความคุ้มค่าที่เป็นตัวเลขแล้ว คนกลุ่มไหนควรจะเห็นเยอะกว่ากัน เอาแค่คนเห็นก่อนนะ

แต่ว่า สมมติว่าคนเห็นเท่ากันด้วยเงินเท่ากัน หมายถึง ค่าจ้างเขากับค่ายิงโฆษณาเอง เราก็ต้องคิดต่อว่า เห็นเท่ากันเขาซื้ออันไหนง่ายกว่า ก็ต้องบอกเลยว่า Influencer โดยมากคนที่ตามก็จะซื้อง่ายกว่า เพราะเชื่อใจกันแล้ว เหมือนลูกค้าเก่า ถ้าเราบริการดีเขาก็อยากซื้อเพิ่มได้ง่ายกว่า ดังนั้น เราก็จะรู้ว่าอย่างนี้เน็ตไอดอลคุ้มกว่า

อย่างนี้เราก็ควรลงเงินกับเน็ตไอดอลด้วย แล้วบอกได้เลยว่าบางครั้งถ้าเป็นเน็ตไอดอลหรือ Influencer เน็ตไอดอลเป็นบุคคล แต่ Influencer บางทีก็เป็นเหมือนเว็บที่รวมรีวิวร้านอาหาร แต่ไม่เคยโชว์หน้าออกมา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็น Influencer คือเนื่องจากคนตามเพจเขาเยอะใช่ไหม ถ้าคอนเทนท์มันดีแล้วคนแชร์เยอะ ๆ บางทีมันหยุดไม่อยู่เลยนะจะบอกให้ บางทีเรานึกว่าจะจบแค่ 1,000 แชร์ นี่ก็ Happy แล้ว บางทีถ้าคอนเทนท์มันดีมาก มันทะลุไปเป็นหมื่นเป็นแสนแชร์ บอกเลยว่าแทนที่จะมองเป็นโชคดีนะ คนจะด่าเอานะหมายถึงว่า

ผมเคยมีเคส เขาทำบุฟเฟ่ต์กุ้งมังกร แล้วเป็นเจ้าแรกในไทยเลยที่ทำ แล้วเขาก็ไปฝาก Influencer คนหนึ่งช่วยรีวิวในพันทิพย์ ชื่อพะยูน ๆ อะไรสักอย่าง แล้วเขาก็ไม่คาดคิดว่าคนจะแชร์เยอะขนาดนั้นใช่ไหม ปรากฎว่าคนแชร์กันมหาศาลมาก แล้วเขาก็เตรียมโต๊ะอุตส่าห์เตรียมไว้เพิ่มแล้ว ปรากฎว่าไม่พอ คือคนมาแบบร้านแทบพังแทบล้นออกมา แล้วก็กุ้งก็ขาด ทีนี้กลายเป็นได้ไวรัลตัวใหม่ก็คือคนไปรีวิวด่า คราวนี้คือคนไปรีวิวด่าแล้วก็กลายเป็นไวรัลอีกรอบหนึ่ง แล้วก็คนก็ไม่ไปกินกลายเป็นเจ๊ง แล้วตอนหลังแก้สถานะการณ์จนกลับมาได้

คือ Influencer บางทีถ้าคอนเทนท์มันจุดติด มันจะไปไกลมาก แต่ว่าการจุดติดมันมีสองอย่าง หนึ่งคือฟลุค สอง วางแผนมาก่อน ซึ่งการวางแผนมาก่อนมันก็ยากเหมือนกันนะ มันมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเยอะ ถ้าเบื้องต้นก็ประมาณนี้ อันนี้คือข้อดีข้อเสีย

ทีนี้ ประโยชน์อีกแง่หนึ่งของ Influencer กับเน็ตไอดอลคนที่เอาสินค้าเราไปบอกต่อ ประโยชน์อีกแง่หนึ่งก็คือถ้าเกิดว่า สิ่งที่เขารีวิวนั้น มันไปค้างอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่ง เช่น มันไปค้างอยู่ใน Google ค้างอยู่ในพันทิพย์ คือ ธรรมชาติของคนเดี๋ยวนี้เวลาไปซื้อของ ก่อนที่เขาจะซื้อเขาจะไปเสิร์ช ในรีวิวใน Google อีกรอบหนึ่งว่า “แบรนด์นี้มีคนพูดถึงว่าอะไรบ้าง”

สมมติ เราเห็นเครื่องสำอางสักอัน เจ้าของเพจพูดชมดีมาก แต่พอเราไปเสิร์ชใน Google ไม่มีคนพูดถึงเลย อันนี้ยังดีนะ แต่ถ้ามีคนด่าด้วยอันนี้หนักเลย เราก็จะแบบเริ่มเอนเอียง เอาดีหรือไม่เอาดี แต่เราลองนึกดูว่าถ้าเราอยากซื้ออยู่แล้ว และเราเสิร์ชใน Google แล้วมันมี 3-4 คนที่เป็นคนดัง รีวิวเชียร์อยู่อย่างนี้ แล้วกดเข้าไปก็บอกค่อนข้างละเอียด แบบว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ มันเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ ซึ่งพฤติกรรมคนเป็นอย่างนั้น คือ ต้องไปเสิร์ชรีวิวสนับสนุน ข้อมูลตัวเอง อันนี้คือประโยชน์อีกข้อหนึ่งที่จะได้

แต่เราก็ต้องเข้าใจอีกว่า ที่ที่เขาเอาไปลง ถ้าลงใน Facebook อย่างเดียวอย่างนี้ มันจะมีโอกาสติดหน้าใน Google ไหม ก็มี ถ้าเขาไปลงพวก Blog ที่อื่นด้วยที่พันทิพย์ที่เป็นเว็บไซต์จริง ๆ อันนี้มันก็จะเพิ่มโอกาสอีกหลายช่องทาง

ประโยชน์อีกแง่หนึ่งของการใช้ Influencer คือ เราจะได้ภาพลักษณ์ของเขามาด้วย ทีนี้ก็ต้องอยู่ที่ว่าภาพลักษณ์เขาเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี ดีไปทางไหน ไม่ดีไปทางไหน บางทีถ้าไม่ดีบางเรื่อง แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับธุรกิจเรา ก็อาจจะไม่ได้มีผลเสีย แต่ว่าถ้าดีในเรื่องที่ตรงกับเราเลยก็จะยิ่งดีใช่ไหม

สมมติผมทำคอร์สการตลาด แล้วอยู่ ๆ มีคุณวิกรมมาแนะนำว่าคอร์สนี้ดี หรือว่ามีคุณตันมาบอกว่าคอร์สนี้ดี

อย่างนี้เนื่องจากเขาเป็นตัวจริง

แล้วเขาบอกว่าของเราดีอย่างนี้

เราจะได้คะแนนเพิ่มเยอะมากเลย

หรือเหมือนกันของเรา คือ ระหว่างเราพูดของเราเองอยู่คนเดียว กับมีอีกคนที่ถูกขนานนามว่าเป็นคนที่แต่งหน้าเก่ง เป็นคนที่เห็นอะไรมาเยอะ ใช่ไหม หรือว่าสมมติอาหารอย่างนี้ อาจารย์ยิ่งศักดิ์มาชมว่าอันนี้ดี คืออย่างนี้คะแนนมันเพิ่มแล้ว

เหมือนครัวคุณต๋อยตอนนี้ก็กลายเป็น Influencer แล้ว ก็คือถ้าครัวคุณต๋อยบอกว่าร้านไหนดี ร้านนั้นคนก็จะคิดว่าดีแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็จะรักษาของเขา ถ้าร้านไม่ดีจริงเขาก็จะไม่ให้ Influencer ถ้าเกิดเขามีความขลังตรงนี้ บางครั้งเราก็ต้องยอมจ่ายเพื่อสิ่งนั้นด้วย แม้ว่ามันจะวัดเป็นตัวเลขตัวเงินไม่ได้ หรือว่ายกอีกตัวอย่าง อย่างพวกของเล่น

เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้คือมีเน็ตไอดอลมีคนตาม อะไรของเขาที่เราไม่รู้จักเยอะไปหมดเลย มีแบบพี่แป้ง พี่กั้ง พี่กุ้ง พี่อะไรอย่างนี้ ของเขานะซึ่งเราไม่รู้จักนะคือใคร แต่เขาโพสต์อะไรมาทีคนดูเป็นแสนตลอด เป็นดาราสำหรับกลุ่มเด็ก เราลองมีของเล่นอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเราไปให้เขารีวิวนะ คือ เด็กแทบจะบอกแม่ให้ซื้อให้เลย หรือไม่ก็แบบพอเด็กบอกแม่ให้ซื้อให้ อาจจะมีบ้านหนึ่งยอมซื้อใช่ไหม พอซื้อมาเสร็จเอาไปเล่นที่โรงเรียน มันก็เกิดไวรัลต่อแล้ว เพื่อนก็เด็กเหมือนกันใช่ไหม ก็แบบของเล่นนี้ดีเล่นสนุก อะไรอย่างนี้ แล้วก็ตามไปดูเน็ตไอดอลคนนั้นต่อ ดังนั้น

การใช้ Influencer เน็ตไอดอล มันได้ประโยชน์ในแง่นี้ บางคนบอกว่าฉันไม่อยากพึ่งใครเลย ฉันอยากจะลุยของฉันเองคนเดียว ไม่อยากง้อใครทั้งสิ้นขายเองโปรโมทเอง อันนี้คุณก็ต้องมีดีของคุณ หรือว่าคุณอาจจะบอกว่า ฉันไม่อยากก้าวกระโดดมากมายไม่อยากเสี่ยง กลัวดังไปแล้วยังไม่พร้อมขายขายไม่ทัน อย่างนี้คุณก็ติ๊ดชึ่งของคุณไป ก็คือค่อย ๆ ทำค่อย ๆ สร้าง

มันมีอีกวิธีหนึ่งคือเหมือน ทำตัวเองให้กลายเป็น Influencer ก็ได้นะ อย่างสมมติเราขายของเล่นเด็กใช่ไหม ถ้าเราอยากขายได้มาก ๆ เราอาจจะทำแบบเป็นรีวิวของเล่นเด็ก ที่เป็นประโยชน์หรือว่าดูแล้วสนุก แทนที่เราจะทำเพจแล้วขายทื่อ ๆ อย่างเดียว เราทำเป็นเพจรีวิวของเล่น แล้วคนที่อยากรู้เรื่องของเล่นก็จะตามดูเรา เด็กก็มาพ่อแม่ผู้ปกครองก็มา แล้วเราก็ขายของที่เราขายตอนแรกได้แล้ว ยิ่งกว่านั้นบางทีจะมีคนอื่นมาฝากเราขายด้วย เดี๋ยวนี้มันเลยกลายเป็นยุคแบบ ผสมปนเปมั่วซั่วกันไปหมดแล้ว

คือ Influencer ก็มี Product ของตัวเอง ฉันก็ขายของฉันด้วย แล้วก็มีคนอื่นมาฝากขายด้วย ซึ่งบางทีก็เป็นคู่แข่งกันนะ แต่ก็ทำให้ แล้วก็คนที่มาซื้อเราอีกทีหนึ่ง บางทีก็เป็นลูกค้าเสร็จ ก็ไปเป็นตัวแทน แล้วก็มาเป็นคู่แข่งกับคนที่เอามาให้ตอนแรก แล้วคนที่ขายตัวนั้น ก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเป็น Influencer อะไรอย่างนี้ แล้วเราก็เริ่มเอาของไปฝากขายกัน เดี๋ยวนี้มันเป็นยุคผสมปนเปกันไปหมดแล้ว คนหนึ่งจะมีหลายบทบาทมาก ดังนั้น

ถามว่าควรจะเลือกแบบไหน?

ก็ไม่มีคำตอบตายตัวหรอก อยู่ที่ว่าเรามองว่าเราทำอย่างนี้ แล้วเราได้อะไรเสียอะไร ทำอีกแบบหนึ่งได้อะไรเสียอะไร

อีกแง่มุมหนึ่ง ที่คนไม่เคยนึกถึงก็คือ ลูกค้าเราก็เป็น Influencer เหมือนกันนะ การที่เราดูแลลูกค้าดี บริการหลังการขายดี บริการดีตั้งแต่ตอนที่เขามาซื้อ ให้คำแนะนำดี เขาก็ต้องมีเพื่อนใช่ไหม เพื่อนเขาก็ต้องมีคนแบบเดียวกับเขาอีก เขาก็ไปบอกต่อ

บางคนที่ไม่ค่อยใช้ Influencer ประเภทนี้ก็มี คือ เน้นดูแลลูกค้าตัวเองแบบดีมาก ทำ Facebook group ขึ้นมาเลยมาถามวิธีใช้ แล้วก็คอยให้คำแนะนำตลอดลูกค้าอาจจะแบบปีแรกอาจจะ 500 คน ปีที่สองพันคนเนี่ยได้ Influencer พันคน อาจจะมีพลังกว่าเน็ตไอดอลก็ได้นะ รวม ๆ กัน แล้วพันคนเนี่ยไม่ต้องอะไรเดือนหนึ่งไปพูดต่อสักครั้งหนึ่ง แค่นี้ก็มีลูกค้าเข้ามาจากการบอกต่อมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ แล้ว