เท่าไหร่จึงจะพอ?

ผมมักจะมีคำถามกับตัวเองผุดขึ้นมาในสมองอยู่ตลอดเวลาว่า

…ทำไมวันที่เราเริ่มต้นชีวิตทำงานเงินเดือน 18,000 เราก็มีความสุข ณ วันนั้นเราก็คิดว่าถ้าเราได้เงินเดือนซัก 25,000 คงจะมีความสุขกว่านี้ แต่พอได้เงินเดือน 25,000 ผมก็เริ่มคิดถึงรายได้เดือนละ 100,000 บาท

และพอผมได้รายได้เดือนละ 100,000 บาท ผมก็มานั่งถามตัวเองว่า ทำไมความสุขจากการได้เงินของเรามันไม่เห็นต่างกับตอน 18,000 เลยฟระ? เพราะอะไรหนอ?? และหลังจากนั้น ผมก็ยังได้รายได้ต่อเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามธุรกิจที่เติบโตขึ้น และผมก็เฝ้าถามตัวเองตลอดว่า ทำไมมันรู้สึกเหมือนเดิมเลย? รู้สึกว่าความสุขมันสั้นลงด้วยซ้ำ เพราะอะไร? แถมลึกๆผมยังรู้สึกด้วยซ้ำว่ามีความทุกข์มากกว่าเดิม

ซึ่งหลังจากที่ผมได้เริ่มศึกษาเรื่องจิตวิทยาเศรษฐศาสตร์ และพุทธศาสนามากขึ้นผมจึงเข้าใจว่า อ๋ออ เหตุผลที่เราทุกข์นั้นเพราะว่า เรากลัวที่จะเสียรายได้เดือนละ 6-7  หลัก ของเราไป ถ้าเดือนไหนที่เราทำรายได้ได้น้อย เราก็จะทุกข์ และที่สำคัญคือหลายๆครั้งมันยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่เราทุกข์ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เพราะเรากลัวว่ามันจะเกิดขึ้น

ผมจึงเข้าใจทันทีว่า ต่อให้ผมมีเงินเป็นพันล้าน หมื่นล้าน ผมก็ยังจะรู้เช่นเดิม ถ้าหากผมไม่รู้จักที่จะหัดดับกิเลส หรือเจริญสติตามวิธีของพระพุทธศาสนามากขึ้น

ขอออกตัวก่อนว่า ผมเองเป็นเพียงผู้ที่เริ่มต้นศึกษาเรื่องธรรมะเท่านั้น

ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะถูกบรรจุในการเรียนการสอนที่ผมเติบโตมาตั้งแต่ ม. ต้น

และถึงแม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะทำให้ผมเข้าใจเรื่องราวของพระพุทธศาสนามากขึ้น

แต่ผมยังจำได้ดีว่าสมัยเด็กๆ ผมต่อต้านวิชาพุทธศาสนามากๆ เหตุผลเป็นเพราะว่าอาจารย์ที่สอนนั้น

มักจะพูดแต่เรื่องผี วิญญาณ ของขลัง อย่างเช่น อย่ากินข้าวต้มในงานศพเยอะ เดี๋ยวผีจะตามกลับบ้าน

ทำให้ผมที่เป็นเด็กสายวิทย์ คณิตฯ ต่อต้านวิชาพุทธศาสนามากๆ เพราะสิ่งที่อาจารย์สอนนั้นดูไร้เหตุผลสิ้นดี ผมเคยสอบได้เกรด 2 ด้วย คิดดูว่าคุณเคยได้ยินใครสอบพระพุทธได้เกรด 2 บ้างมั๊ย? 55+ เพราะว่าผมประชด กาข้อสอบมั่วมันซะเลย

และลึกๆผมมีความเชื่อว่า…คนไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้เข้าใจพุทธศาสนาจริงๆ

ลึกๆผมเชื่อว่า…การปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า คือการไปทำให้คนอื่นไปจับ นก ปลา เต่า มาปล่อยเพิ่ม เป็นการทำบาปต่างหาก

ลึกๆผมเชื่อว่า…การทำบุญ ไหว้พระ และขอนู่นนี่ โดยเฉพาะการขอที่เป็นวัตถุ ไม่ใช่ขอเรื่องสติปัญญา หรือจิตใจ เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ คล้ายๆกับคนที่ช่วยคนอื่น พอช่วยเสร็จแล้วทวงบุญคุณ

ลึกๆผมเชื่อว่า…เหตุผลของการทำบุญ คือการทำจิตใจให้บริสุทธ์ ช่วยละจากความอยากได้อยากมี และช่วยทำนุบำรุงศาสนาให้อยู่ต่อไปถึงคนรุ่นหลังได้ แต่สำคัญคือมันต้องไปถึงคนรุ่นหลังด้วยแก่นของพุทธจริงๆ ไม่ใช่ด้วยพระพุทธรูปสีทอง

ลึกๆผมเชื่อว่า…พุทธศาสนา แก่นอยู่ที่ 0 ไม่ใช่ +1 ไม่ใช่ -1 แต่เป็น 0 คือตรงกลาง คือความนิ่ง ความสงบ

แล้วด้วยเหตุผลอะไรจึงทำให้ผมหันมาสนใจศาสนาพุทธอย่างจริงจังอีกครั้ง?

เริ่มต้นจากความบังเอิญที่ได้เข้าไปดูคลิป อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่กล่าวถวายความอาลัยแก่ในหลวง ผมฟังอาจารย์เฉลิมชัยเต็มๆเป็นครั้งแรก และรู้สึกสนใจจนรู้ตัวอีกที คลิปทุกคลิปใน Youtube (น่าจะซัก 50 คลิปได้) ที่มีคำว่าอาจารย์เฉลิมชัยอยู่ ผมจะกดเข้าไปฟังแกพูดทั้งหมด และเรื่องที่แกพูด 70% จะสอดแทรกธรรมะตลอด ซึ่งแกเป็นคนที่ถ่ายทอดธรรมะได้เมามันส์มากๆ ผมเชื่อว่า คนที่ชอบดูมวย ดูบอล เล่นเกมส์อย่างผมทุกคน ฟังแกแล้วจะต้องชอบอย่างแน่นอน 55+

หลังจากนั้นผมได้บังเอิญ ฟังคลิปของผู้บริหาร หรือคนในสาขาอาชีพอื่นๆที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยหลายๆท่าน ศาสนาพุทธล้วนมีส่วนในความสำเร็จทั้งนั้น เช่น อ.เฉลิมชัย, ดร.แสงสุข (เจ้าของ สมูธอี และเดนทิสเต้), คุณต่อ ฟิโนมิน่า (ผู้กำกับหนังโฆษณามือพระกาฬ)

ไม่ใช่ว่าเพราะผมอยากสำเร็จอะไรมากมายขนาดนั้น จึงสนใจฟัง แต่เพราะมันมีเหตุมีผลจริงๆครับ เพราะศาสนาพุทธส่วนหนึ่งเป็นหลักของจิตใจ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่า หากเราเข้าใจจิตใจของคน เราจะเข้าใจว่าเราควรทำการตลาดอย่างไรให้โดนใจคน รวมถึงชนะใจทีมงาน หุ้นส่วน รวมถึงพ่อแม่ ภรรยา ลูกๆ ที่สำคัญที่สุดคือชนะใจตนเองด้วย

นั่นคือจุดเริ่มต้น…

และจนช่วงนี้ผมได้มีโอกาสศึกษาหนังสือธรรมะหลายเล่มด้วยกัน โดยเนื้อหาที่ผมกำลังจะพูดถึงมาจากหนังสือ

“กิเลส Management” เขียนโดย พระอาจารย์ ว วชิรเมธี

และที่พีคมากสำหรับผมคือ หนังสือเล่มนี้มีรูปวาดประกอบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

ขอเข้าประเด็นเรื่องกิเลสฝ่ายเลว กิเลสฝ่ายดี

กิเลส คือความอยาก ความปรารถนา

แต่กิเลสในหนังสือเล่มนี้ มีสองฝั่ง คือ

  1. กิเลส ฝ่ายเลว เรียกว่า ตัณหา
  2. กิเลส ฝ่ายดี เรียกว่า ฉันทะ

ความน่าสนใจของ กิเลสฝ่ายเลว และฝ่ายดีอยู่ที่

  1. เมื่อเราสนองตนเองด้วยกิเลสฝ่ายเลว ก็คือตัณหา ตัณหาคือความอยากได้อยากมีด้วยความโลภ อยากได้อยากมีด้วยวัตถุ หรือการยึดติดกับตัวตนของตัวเอง เราจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี สืบเนื่องตามมา ความหมายก็คือ เมื่อเหตุไม่ดี ผลไม่ดีก็จะตามมา และระหว่างทางจะได้ความทุกข์เป็นของแถมตลอดเวลา และยิ่งกว่านั้น กิเลสฝ่ายเลวนั้นมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเองออกไปเรื่อยๆ เช่น คนมีจักรยาน เห็นคนขับรถ ก็อยากขับรถเก๋ง , คนขับรถเก๋งราคาถูก เห็นคนขับรถเบนซ์ BM ก็อยากได้รถเบนซ์ BM, คนมีรถเบนซ์ เห็นคนขับรถ ปอร์เช่ ลัมโบกินี่ ก็อยากได้, ยังไม่จบ คนขับลัมโบกินี่ เห็นคนมีเรือยอร์ชก็อยากมีเรือยอร์ช, ยังครับ ยังไม่จบ คนมีเรื่อยอร์ช เห็นคนมีเครื่องบินส่วนตัวก็อยากมีเครื่องบินส่วนตัว นึกว่าจบแล้วใช่ไหมครับ? ยังครับ คนมีเครื่องบินส่วนตัวที่บินได้ในเฉพาะประเทศ เห็นคนมีเครื่องบินส่วนตัวที่บินข้ามทวีปได้ ก็อยากได้ เรื่องเครื่องบินส่วนตัวนี่เป็นเรื่องจริงจากมหาเศรษฐีใหญ่ในไทย ท่านนึงนะครับ คิดดูสิ่ครับ เราคิดว่ามหาเศรษฐีน่าจะหลุดพ้นจากความอยากได้อยากมีแล้ว เพราะถึงขนาดมีเครื่องบินส่วนตัวแล้ว แต่ความจริงก็คือ ถ้าเค้ายังยึดติดกับกิเลสฝ่ายเลว มันก็ขยายไปเรื่อยๆอย่างไม่สิ้นสุดครับ ตอนนี้คุณอาจจะคิดว่า ถ้าเราได้เครื่องบินส่วนตัวแบบบินข้ามทวีปได้แล้ว เราคงไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว แต่ความเป็นจริงผมเชื่อว่า กิเลสฝ่ายเลวมันก็จะทำงาน ทำการขยายตัวเหมือนเดิมอีกเช่นเคยครับ แล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ เราไม่เคยไล่ตามกิเลสฝ่ายเลวทันซันที
  2. แต่กลับกัน สำหรับกิเลส ฝ่ายดี ก็คือฉันทะ ฉันทะ คือความเพียรที่เราต้องการจะทำสิ่งดีๆ สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น พัฒนาสติ ปัญญาของตนเอง และผู้อื่น ซึ่งการมีฉันทะ และเดินหน้าลงมือทำนั้น เราจะได้ความสุขมาเป็นของแถม ซึ่งเป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่า สุขแล้วสุขเลย บางคนอาจจะบอกว่ากิเลสฝ่ายเลวก็ทำให้เราสุขได้เหมือนกัน แต่กิเลสฝ่ายเลว เมื่อสุขแล้วจะสุขแค่แป๊บเดียว แล้วโดยธรรมชาติของจิต ถ้าเราสนองกิเลสฝ่ายเลว โดยไม่ยับยั้ง มันก็จะแสวงหาของใหม่เพื่อตอบสนองความสุขอีก ซึ่งจังหวะนั้นแหล่ะครับ เราจะมีความทุกข์

ตัวอย่าง : อยากเรียนต่อปริญญาโท

 เรียนเพื่อสนองกิเลสฝ่ายดี : สมมติมีคนอยากเรียนต่อปริญญาโท ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากจะพัฒนาสติปัญญาของตัวเอง อยากมีความเข้าใจในสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ และนำกลับมาใช้พัฒนาธุรกิจ หรือพัฒนาอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ของต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคม

จะเห็นว่าคนที่มีเป้าหมายด้วยกิเลสฝ่ายดีแบบนี้ ไม่ต้องบอกคุณก็คงจะพอเดาได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร

เมื่อติดกระดุมเม็ดแรกถูก เมื่อปักธงถูกที่ คนๆนั้นก็ย่อมที่จะตั้งใจเรียนปริญญาโทอย่างแท้จริง ตั้งใจเรียนเพื่อความเข้าใจ มีโปรเจคก็จะทำงานอย่างละเอียด มาเรียนก็จะตรงเวลา และก็อยากจะไปนั่งหน้าๆ มีอะไรไม่เข้าใจก็จะหมั่นถามอาจารย์ และยิ่งกว่านั้น ความตั้งใจลักษณะนี้ก็จะดึงดูดเพื่อนที่เป็นเดียวกัน คนๆนั้นจะเริ่มมีเพื่อนที่เป็นลักษณะเดียวกันเข้ามาทำความรู้จักด้วย บางคนถ้ายังโสดและเจอเพื่อนต่างเพศในรุ่น ก็อาจจะคบหากัน จนแต่งงานมีครอบครัวกันเลยก็ได้ (หรือที่เค้าเรียกว่า ศีลเสมอกัน) ผลหลังจากนั้นก็คือ ผลการเรียนของผู้เรียนคนนี้ย่อมดีตามความตั้งใจ ซึ่งเกรดจะมากน้อยก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญซะด้วยซ้ำ เป็นเพียงแค่ผลสะท้อนจากความเข้าใจในการสอบ และผลงานระหว่างเรียน แต่หลังจากออกมาทำงาน หรือทำธุรกิจ ผลดีอันนั้นอาจจะใช้ได้อีกไปตลอดชีวิตเลยด้วยซ้ำ ดูสิ่ครับว่าการติดกระดุมเม็ดแรกถูก มันมีคุณค่าขนาดไหน

เรียนเพื่อสนองกิเลสฝ่ายเลว : สมมติมีคนอยากเรียนต่อปริญญาโทเหมือนกัน แต่คนๆนี้เหตุผลในการอยากเข้าเรียนคือ เห็นเพื่อนมีปริญญาโทกันหลายคนแล้ว ตัวเองก็เลยอยากมีบ้าง (อันนี้คือการยึดติดในตัวตน) จะเห็นว่าเริ่มติดกระดุมเม็ดแรก ก็มีแนวโน้มจะหายนะแล้ว หรือบางคน เรียนโท เพราะขี้เกียจทำงาน หรืออยากอัพเงินเดือนให้ได้เร็วๆ อันนี้ก็ถือว่าทำเพื่อสนองกิเลสฝ่ายเลวเช่นกัน

และต่อมาคนๆนี้น่าจะเป็นอย่างไร?

โอกาสที่จะเป็นก็คือ เมื่อเค้าอยากโท เพราะอยากมีปริญญากับเค้าบ้าง อยากอัพเงินเดือน หรือขี้เกียจทำงาน

สิ่งที่เค้าจะทำก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เรียนจบเร็วๆ ได้ปริญญาโทเร็วๆ

เข้าเรียนบ้าง ไม่เข้าเรียนบ้าง เอาเท่าที่พอให้เรียนจบ

ถ้ามีโปรเจคอาจจะอยากจับกลุ่มกับเพื่อนที่เก่งๆ และตัวเองคอยให้กำลังใจ (เพราะก็จะได้คะแนนดีเหมือนกัน)

หรือแม้กระทั่ง ทุจริต หรือจ้างคนอื่นทำโปรเจค เวลาว่างก็คงจะไม่มีกะใจมานั่งทบทวน หรือศึกษาสิ่งที่เลือกเรียนมากนัก

เพราะไม่ได้อยากจะพัฒนาสติปัญญาตั้งแต่แรก

และจากนั้นคนๆนี้ก็จะเริ่มดึงดูดคนที่มีวิธีคิดคล้ายๆกันเข้ามาเป็นเพื่อนกัน

เมื่อเสียเวลาเรียนไปถึง 2 ปี แต่หากการเรียนสะดุด และไม่ได้อะไรจากการเรียนมากมายนัก นอกเหนือไปจากปริญญาโท แน่นอนว่าผู้เรียนย่อมรู้สึกทุกข์ใจอยู่ไม่มากก็น้อย และความทุกข์นั้นก็จะค่อยสั่งสมไปเรื่อยๆ อยู่กับเราอีกซักพักใหญ่ๆ

และเมื่อไหร่ที่มีเหตุการณ์ที่เราได้รับผลกระทบจากการเรียนนี้ เช่น มีเด็กจบปริญญาตรีสาขาเดียวกันเข้ามาทำงานที่เดียวกัน แต่เค้าดันรู้ และเข้าใจอะไรมากกว่า คนๆนั้นที่จบปริญญาโท ในสาขาเดียวกัน ความทุกข์ก็จะเริ่มเข้ามาแทนที่ทันที

บทสรุป

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่บนโลกต้องล้วนเคยตั้งโจทย์ หรือติดกระดุมเม็ดแรกผิดกันทั้งนั้น แต่โชคดีที่ทุกๆคนสามารถปรับตัว ปรับความคิดได้ทัน

ดังนั้นหากใครที่กำลังทำธุรกิจอยู่แล้วมีความทุกข์อยู่บ่อยครั้ง จริงๆแล้วเหตุผลอาจจะเกิดจากที่คุณกำลังทำธุรกิจเพื่อสนองกิเลสฝ่ายเลวอยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าต้องมีหลายโมเมนต์ที่คุณอยากทำธุรกิจเพื่อสนองกิเลสฝ่ายดีเช่นเดียวกัน หรือคุณอาจจะเป็นคนที่แสวงแต่กิเลสฝ่ายดีอยู่แล้วก็ได้ นั่นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆเลยครับ ^^

ดังนั้นสุดท้ายนี้อยู่ที่คุณละครับ ว่าจะหมั่นรดน้ำให้กิเลสฝ่ายดี หรือฝ่ายเลว มากน้อยขนาดไหน

แน่นอนว่าไม่มีใครบังคับอะไรเราทั้งนั้น ไม่มีใครบอกเราได้ว่าอะไรที่เหมาะสมกับเรา

มีแต่เราเท่านั้นที่รู้อยู่แก่ใจ ว่าอะไรที่เราต้องการจริงๆกันแน่?