เริ่มต้นการตลาดออนไลน์ (ควรเริ่มจากช่องทางไหน?)

เมื่อเราจะเริ่มต้นการตลาดออนไลน์ เราต้องศึกษาว่าลูกค้าเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน ถ้าเราบอกว่าเขาอยู่ที่ Google / Facebook / Pantip / Line / YouTube ว่ากันตามตรงเราควรจะไปอยู่ทุกที่ แต่ทีนี้แต่ละที่มันก็มีลักษณะเฉพาะทางของมัน อย่าง Pantip อยู่ ๆ เราทะเล่อทะล่าขายของซี้ซั้ว เราก็อาจจะโดนเอากระทู้ลงได้ เราก็ต้องเข้าใจว่าแต่ละที่บริบทมันเป็นอย่างไรและเราจะใช้วิธีอะไรในการเข้าไปทำการตลาดในนั้น ซึ่งก่อนที่จะมาถึงเรื่องนี้ ผมก็จะแนะนำอย่างนี้ว่า “เราต้องดูสถานะตัวเองด้วยว่าเราเป็นแบบไหน”

แบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ

1.เริ่มต้นการตลาดออนไลน์โดยที่ เราอยากใช้แรงกับใช้เวลามากกว่าใช้เงิน

2.เริ่มต้นการตลาดออนไลน์โดยที่ เราอยากใช้เงินมากกว่าใช้แรงกับเวลา

แบบแรก ก็ให้นึกถึงคนที่เพิ่งขายของออนไลน์ทำงานประจำไปด้วยและก็อยากจะหัดขายของด้วย ก็ไม่ได้อยากจะลงเงินเยอะ แต่พวกนี้คุณก็ต้องเข้าใจว่า คุณก็ต้องยอมเหนื่อยมากขึ้น ลงทุนเวลาลงทุนแรง ลงทุนอ่านเยอะ ๆ ศึกษา

แบบที่สอง ก็คือเงินเยอะอยู่แล้ว รายได้เยอะอยู่แล้วแต่ไม่อยากให้น้อยลง แต่ว่าเวลาก็ไม่มี ลูกก็มีต้องเลี้ยง ลูกน้องก็เยอะ ต้องบริหาร งานก็เยอะ ภาระเยอะ ก็อยากจะใช้เงินทำงาน

เริ่มต้นการตลาดออนไลน์ สำหรับคนทุนน้อย (อยากใช้แรง กับเวลา)

สำหรับกลุ่มแรกคนที่อยากจะใช้แรงกับใช้เวลา อันนี้สมมติว่าคุณบอกว่า คุณอยากทำการตลาดออนไลน์ อยากขายของออนไลน์ อยากมีรายได้เพิ่ม แต่คุณบอกว่าคุณไม่อยากใช้เงินด้วย เงินก็ไม่ค่อยมี อยากประหยัด แล้วก็เวลาก็ไม่อยากจะลง แรงก็ไม่อยากจะออก อย่างนี้มันก็รู้อยู่แล้วว่า มันเป็นศูนย์ มัน success ไม่ได้หรอก สำเร็จไม่ได้หรอก มันก็ต้องมีให้ครบ มันถึงจะเวิร์ค แล้วก็ไม่ได้แปลว่า ไม่ได้การันตีว่ามีครบแล้วจะเวิร์คทันทีนะ บางอย่างมันก็ต้องใช้เวลา

แต่ว่าแน่นอน ถ้าเกิดเรารู้วิธี มันก็จะร่นเวลา ว่าเราควรจะทำแบบไหนแล้วมันได้ผลเร็ว สำหรับคนกลุ่มแรกก่อน จริง ๆ ต้องบอกว่า จริง ๆ ทั้งสองกลุ่ม มันก็ใช้ผสม ๆ กันได้นะ คนมีเงินจริง ๆ ก็ไปจ้างคนไม่มีเงินแต่มีเวลา ไปทำแบบที่หนึ่งนี้ให้ก็ได้ แบบที่หนึ่งก็คือ เป็นพวกช่องทางฟรี พูดง่าย ๆ ช่องทางฟรีมันก็มีหลากหลายช่องทาง ยกตัวอย่างเช่น พวก Marketplace Lazada วิธีการก็คือว่าเราเอาของไปขายที่เขา แล้วถ้าขายเสร็จ ก็จะตัด GP ก็คือเขาเอาค่าคอมมิชชั่น  ดังนั้น ตรงนี้มันก็ดีตรงที่ว่า เหมือนเราไปเปิดร้านก่อน แล้วถ้าขายไม่ได้เราไม่เสียอะไร แต่ถ้าขายได้เขาก็หักกำไรไป อย่างนี้เราก็ไม่เสี่ยง แต่ว่าเราต้องไปเหนื่อยทำหน่อย อันนี้ก็คือตัวอย่างที่หนึ่ง

อย่างที่สองเวลาเราจะเริ่มต้นการตลาดออนไลน์ก็คือ อย่างเช่น Facebook group ให้เรานึกถึงตลาดนัด คือถ้าแถวบ้านเรามีตลาดนัด บอกได้เลยว่าขอแค่เราไปเปิดแผงเถอะ แล้วก็ไปนั่งเถอะ ถ้าคนมันเยอะ ยังไงเราก็มีโอกาสจะขายของได้ ถ้าของเราไม่ได้ประหลาดมากนะ ถ้าของเราทั่ว ๆ ไปเหมือนที่เขาชอบซื้อกัน แล้วก็มีจุดเด่นหน่อย อย่างเช่นนาฬิกา อุปกรณ์โทรศัพท์กระจุ๊กกระจิ๊ก หรือว่าต่างหู แป้งพับ เสื้อผ้า อะไรพวกนี้ที่ผู้หญิงชอบช็อปกัน ขอให้ไปเปิดร้านโอกาสขายได้มันสูงอยู่แล้ว

แต่ทีนี้การที่มาอยู่บน Facebook group มันก็เปรียบเสมือนเป็นตลาดเลย อยากให้ไปลองดูนะ ก็คือสมมติ เราขายอะไรสักอย่างหนึ่ง สมมติเราขายหมวกกันน็อค ลอง search เข้าไปใน Facebook พิมพ์ว่า ซื้อเว้นวรรคขาย เว้นวรรคหมวกกันน็อค เราจะต้องเจอขึ้นมานะอย่างน้อยสามกรุ๊ป แล้วกรุ๊ปหนึ่งต้องมีคนอยู่หลักพัน หลักหมื่น หลักแสนเกือบทุกกรุ๊ป ตรงนี้ก็ให้เรามองเป็นเหมือนตลาด เป็นตลาดนัดที่คนมุงกันอยู่เยอะ ๆ ซึ่งเราสามารถเข้าไปในตลาดนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะว่า Facebook group เขาทำขึ้นมา ว่ากันจริง ๆ มันไม่มีเจ้าของที่แท้จริง ณ วันนี้ตามธรรมเนียมมันไม่ค่อยมีหรอก มันมีแค่เป็นเหมือนแอดมิน แต่แอดมินเขาก็ยังไม่มีระบบที่ว่า ถ้าฉันเป็นคนเปิดกรุ๊ปขึ้นมา แล้วใครมาอยู่ในตลาดฉันต้องจ่ายเงินนะ คือมันยังไม่มีแบบนั้น เท่าที่ผมเห็นส่วนใหญ่ก็จะแบบเปิดให้ซื้อขายกันเสรี ดังนั้น

เราก็เข้าไปแล้วก็โพสต์ขายของไป ซึ่งอย่างนี้ถ้าเกิดว่าเราเข้าไปโพสต์ แล้วเราเข้าไปขายหมวกกันน็อคแล้วเราเข้าไปกลุ่มที่เขาอยากซื้อขายหมวกกันน็อคกันหรือขับมอเตอร์ไซค์กัน ถ้าสินค้าเราโดดเด่นสักหน่อย คนก็จะมาคอมเมนต์แล้วก็จะมีคนสนใจซื้อบ้าง อยู่ที่ช่วงเวลาที่เราโพสต์มีคนเยอะแยะขนาดไหน แล้วก็สักพักหนึ่งความนิยมของโพสต์เรา มันก็จะค่อย ๆ หล่นไปข้างล่างก็จะมีโพสต์ใหม่มาแทน ดังนั้น แปลว่าเราต้องเข้าไปทำบ่อย ๆ 3 ชั่วโมงทำที ๆ วันต่อมาก็ต้องทำทีหนึ่ง แต่ถ้าโพสต์เราแบบปังมากคือ สินค้านี้คือไม่มีใครขายเลย แล้วก็เป็นที่นิยมมาก คนพูดถึงเยอะ พอคนพูดถึงเยอะ มันก็จะมาคอมเมนต์กันยาว ๆโพสต์นี้ก็จะอยู่ได้นานหน่อย หรืออย่างพวกเว็บ อย่างเช่น kaidee.com พวกเว็บตลาดซื้อขาย พวกนี้เราก็เข้าไปขายของได้ หรืออย่างพวกเว็บเฉพาะทางบางอย่าง

ทุกหมวดมันจะมีเว็บเฉพาะทางอยู่ อย่างเช่น สมมติเราขายรถมือสอง มันก็จะมีแบบ One2car เราขายบ้านก็จะมีแบบ DDproperty เราขายพวกสินค้าเกี่ยวกับไอที มันก็จะมีแบบ Overclockzone เราขายเกี่ยวกับเสื้อผ้ามันก็จะมีเว็บ ขายเครื่องสำอางอาหารเสริมมันก็จะมีเว็บของมัน เราก็เข้าไปในพวกนั้นแล้วเราเข้าไปโพสต์ขาย วิธีโพสต์ก็อย่างที่บอกไปแล้ว ถ้าจะเอาให้ได้ผลเราก็ต้องสังเกตว่า ที่ไหนคนเยอะเราก็โพสต์ที่นั่นแหละ คือถ้าที่นั่นคนเยอะ และคู่แข่งเยอะโอกาสขายได้ มันยังเยอะกว่าเข้าไปที่ ๆ แบบไม่มีคู่แข่ง แต่คนมีอยู่ไม่กี่สิบคนร้อยคน ที่ไหนที่การแข่งขันเยอะ ๆ ที่นั้นมักจะแปลว่าขายกันดี เราเข้าไปลองทำอย่างนี้ได้เลย

เริ่มต้นการตลาดออนไลน์ สำหรับคนทำธุรกิจมีทุน (อยากใช้เงินมากกว่า แรงกับเวลา)

แต่ทีนี้ถ้าเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคนที่อยากใช้เงินทำงาน เขาจะมานั่งโพสต์ทุกวัน มันเสียเวลาทำมาหากิน เขาก็บอกว่าจากเดิม ถ้าเป็นบริษัท SME ที่โตสักหน่อย เราก็จะเริ่มมีพนักงานขาย ถ้าโตหน่อยก็จะมีหลายคนเลย พนักงานขายก็จะมีสิบกว่าคน แล้วพนักงานขายก็จะวิ่งเข้าไปหาลูกค้า หรือโทรไปหาลูกค้าวันหนึ่งต้องมีเป้าเลยว่าต้องโทรกี่สาย ๆ หรือว่าต้องไปเจอลูกค้ากี่รายไปเยี่ยมกี่ราย

ทีนี้ผมก็บอกว่า Google กับ Facebook ก็เป็นช่องทางในการโฆษณา เราสามารถใช้เงินทำงาน ก็คือจ่ายเงินโฆษณาบน Google กับ Facebook การจ่ายเงินโฆษณาบน Google กับ Facebook มันเปรียบเสมือนว่าเราจ้าง Google กับ Facebook เป็นลูกน้อง เพราะว่า Google กับ Facebook  เราซื้อโฆษณาไปเขาก็ไปวิ่งหาลูกค้าให้เราเหมือนกัน ถ้าพูดถึง Google ก่อนเวลาเขาไปวิ่งหาลูกค้าให้เรา ข้อเด่นของเขาที่สุดคือ เขาจะวิ่งไปหาลูกค้า ไปโผล่หน้าจังหวะที่เขากำลังอยากซื้อ ถ้าเมื่อไหร่ลูกค้าพูดขึ้นมาว่า ฉันอยากซื้อ Ukulele” ถ้าเราขาย Ukulele อยู่ เซลล์ของเราก็คือ Google ก็ไปโผล่ได้เลย แล้วที่ดีกว่านั้นคือ ตอนไปโผล่ ไม่เก็บเงินเราด้วยนะ ต้องคลิกโฆษณาเราก่อน เข้าไปที่เว็บถึงค่อยเก็บเงิน

ถ้าพูดให้เห็นภาพคือมันจะมีเซลล์คนไหนที่แบบว่า หนูไม่เอาเงินเดือนนะพี่ เดี๋ยวหนูหาลูกค้ามาให้ แล้วหาคนที่อยากซื้อ Ukulele ด้วยหาเข้าร้านพี่ แล้วถ้าลูกค้าเดินไม่มาถึงหน้าร้าน หนูไม่เอาเงินเดือน มันจะมีไหมเซลล์อย่างนี้ แต่ Google ทำอย่างนี้ก็คือ ลูกค้าต้องเข้ามาในเว็บเราค่อยเก็บเงิน อันนี้คือความแฟร์อย่างมากเลย

ถ้าคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็จะมีวิธีคิดที่ผิด ก็จะกลายเป็นว่าอยากจะเอาคนเข้ามาเยอะ ๆ ใครก็ไม่รู้เอาเข้ามามั่วซั่วไปหมด อยากซื้อไม่อยากซื้อ Ukulele เอาเข้ามาหมด พอเอาเข้ามาเยอะเนื่องจากเขาบอกว่า ยิ่งเอาคนเข้ามาเยอะก็จะยิ่งเก็บเงิน ดังนั้น ถ้าเราเอาคนไม่ใช่เข้ามามันก็จะเปลืองเงินเรา ไปเอาคนไม่ใช่เข้ามาเยอะ ๆ อันนี้มันจะกลายเป็นโทษ มันจะกลายเป็นเราได้กำไรน้อยลง หรืออาจจะถึงขั้นขาดทุน

แต่ว่าถ้าเป็นแบบเก่า ๆ ก็คือ เราจ้างเซลล์เงินเดือนเท่านี้แหละ เราก็จะอยากให้เขาขายให้ได้มากที่สุด เพราะว่าเราจ่ายอยู่เท่านี้แล้ว ยิ่งขายมากเราก็ยิ่งคุ้มยิ่งเอาคนเข้ามาเยอะก็ไม่เสียหาย อย่างน้อยได้มาเดินดูของ ซื้อไม่ซื้อไม่เป็นไร ส่วน Facebook ก็เหมือนกันเอาคนเข้ามาร้านเรา เดินเข้ามาปุ๊บ ชิ้ง! เสียเงิน ชิ้ง! เสียเงิน เราต้องเห็นภาพนี้เลยคือการเอาคนเข้ามาคือต้นทุน ดังนั้น

เราต้องเลือกให้ดีก่อนว่าเราจะเอาใครเข้ามา อันนี้ก็คือ Google ทีนี้อย่างพอเราบอกว่า เมื่อไหร่ที่เรารู้ว่า พนักงานขายคนนี้เก่ง อย่างหนึ่งที่เจ้าของมักจะทำก็คือ

ก็จะให้รางวัล ขึ้นเงินเดือนให้ค่าคอมมิชชั่น เลื่อนตำแหน่ง เราก็ควรจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าเกิดเขาทำลูกค้าให้เราเยอะ เราก็ควรขึ้นเงินเดือนให้เขา ก็คือจ่ายค่าโฆษณาแพงขึ้น เขาจะได้มีค่าน้ำมันค่าอาหาร มีกำลังใจไปวิ่งหาลูกค้าให้เรา เราก็ลงทุนเพิ่ม

แต่ปัญหาของบางคน คือ ไม่รู้อีกว่า คือใน Google ถ้ามองลึกลงไปแล้ว มันก็จะมีอีกหลายคนใน Google อาจจะมีทีม Google ให้มองเป็นทีมแล้วกัน

แต่ในทีมนี้อาจจะมี 20 คน ก็คือแบบ ถ้าในเรื่องภาษาเทคนิคหน่อยก็คือ Keywords ที่เราซื้อคำที่เขาพิมพ์ เรามี 20 คำเราก็ต้องรู้อีกว่า พนักงานคนไหน บางคนทำเงิน บางคนอยู่แล้วเรียกลูกค้าเข้ามาได้ บางคนอยู่เฉย ๆ แต่ไม่เคยเรียกลูกค้าเข้ามาเลย เราก็ต้องเอา keywords ที่ไม่ดีนั้นออก หรือว่าให้เงินมันน้อยลง แล้วก็เอาเงินไปให้ไปเลื่อนตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือนให้คนที่เขาทำผลงาน อันนี้โดยรวมแล้ว ถ้าเราทำแบบเมื่อกี้ เราอาจจะใช้เงินเท่าเดิม แต่ยอดขายเราจะเยอะขึ้น จะขายของได้มากขึ้น อันนี้ฝั่ง Google จริง ๆ มีอีกหลายตัวนะที่มันอยู่ใน Google คือ Google เหมือนเป็นแผนก ข้างในมีทีมย่อย ๆ อีกหลายทีม แล้วแต่ละทีมก็มีหลายคน แต่ว่าใน Facebook สิ่งที่คล้ายกับ Google ก็คือ เราไปหาคนที่เขาสนใจได้เหมือนกัน

Google จุดเด่นคือ เราเข้าไปในจังหวะที่เขาอยาก

Facebook จุดเด่นคือ เราเหมือนเรียกร้องความสนใจเขาง่ายกว่า

Google เวลาเขาอยากแล้ว สิ่งที่เราโชว์ให้เขาเห็นได้ก็คือเป็นข้อความทื่อ ๆ แต่ถ้าเป็น Facebook สิ่งที่เราโชว์เขาได้ มันก็จะเริ่มเป็นภาพ เป็นวีดีโอ แล้วก็พอเป็นวีดีโอ เนื่องด้วยกลไกของมัน และพฤติกรรมคนที่อยู่ ชอบกดแชร์ กดไลค์ กดคอมเมนต์ พอเขากดเพื่อนเขาก็เห็น ดังนั้น ถ้าในแง่ของการสร้างการรู้จัก คือถ้าเราอยากให้คนรู้จักของเราเยอะๆ ถ้าเทียบกันหมัดต่อหมัด โดยมาก Facebook จะได้ผลกว่า เพราะว่าคนกดไลค์ทีหนึ่งเขามีเพื่อนอีก 500 คน เพื่อนเขาอาจจะเห็นครึ่งหนึ่ง  250 แต่เราจ่ายแค่เฉพาะคนแรกคนเดียวที่เขาเห็น ดังนั้น มันก็เลยมีคำหนึ่งขึ้นมาคือ ถ้าเอาศัพท์ง่าย ๆ ก็คือแบบ อยากให้คนมากดไลค์ของเราเยอะ ๆ เพราะว่าพอคนเข้ามากดไลค์ของเราเพื่อนเขาเห็น อันนี้คือจุดเด่นอย่างหนึ่งของมัน คือมันทำให้เกิดกลไกการแชร์ แล้วก็การบอกต่อ

http://www.pakorn.in.th/content-marketing/%e0%b8%97%e0%b8%b3-content-%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89-3000-%e0%b9%81%e0%b8%8a%e0%b8%a3%e0%b9%8c-%e0%b9%81%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%82%e0%b8%b2/

Facebook คนไทยเล่นวันหนึ่ง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน อันนี้โดยเฉลี่ยนะ พูดง่าย ๆ ว่าคือแทบไม่ได้ทำอย่างอื่น เวลาที่เหลือได้ทำงานบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือนอนไป 7-8 ชั่วโมง กินข้าวไปอีก 2 ชั่วโมง แล้วก็เล่น Facebook อีก 7 ชั่วโมง คือเล่นอาจจะปนกับตอนทำงาน คือ ดังนั้นแปลว่าเราเข้าหาเขาได้เยอะ แล้วก็เหมือนกันก็คือ Facebook จับพฤติกรรมของทุกคน Google ก็เหมือนกัน แต่ Facebook เนื่องจากเราอยู่กับมันมาก เขาก็เข้าใจพฤติกรรมเรามาก เช่น แบบเราชอบไปกดไลค์ ช่วงนี้เราไปกดไลค์เพจเกี่ยวกับเรื่องแต่งงาน เรื่องสถานที่แต่งงาน เรื่องชุดแต่งงาน Facebook ก็บอกว่าคนนี้สนใจเรื่องพวกนี้ พอ Facebook จัดกลุ่มให้เรา ฝั่งคนที่ยิงโฆษณา เขาก็จะเลือกได้ว่าถ้างั้นฉันขายชุดแต่งงาน ฉันก็ยิงหาคนที่สนใจชุดแต่งงานอยู่ตอนนี้เลย เพราะว่าเมื่อเขาสนใจอยู่ตอนนี้มันก็ขายง่าย อันนี้ก็คือจุดเด่นของ Facebook อันนี้คร่าว ๆ ก็คือภาพรวมระหว่างสื่อบนโฆษณา แต่จริง ๆ แล้วมันมีเรื่องมากมายไม่รู้จบบนออนไลน์ แต่ว่าภาพใหญ่ ๆ ก็เป็นลักษณะประมาณนี้

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเราเหมาะกับ Facebook หรือ Google

ความเป็นจริงแล้ว มันฟันธงขนาดนั้นไม่ได้ว่าคุณเป็นอย่างนี้ คือหมายถึงว่าคุณเป็นอย่างนี้ มันบอกได้ว่าคุณเหมาะกับอะไร แต่ปัญหาคือผมไม่รู้ว่าคนฟัง เขาเป็นอย่างไรกันแต่ที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ยกตัวอย่างนะ

อย่างบอกว่าเป็นเคสมือถือ ฉันขายเคสมือถือใช่ไหม ถ้าคร่าว ๆ อย่างนี้ผมจะบอกว่า ดูแล้วเหมาะกับ Facebook มากกว่า แต่ถ้าพอคุณบอกว่าเป็นเคสมือกันน้ำ

หรือเป็นเคสมือถือเอาไปดำน้ำ หรือเป็นเคสมือถือยี่ห้อหนึ่งที่คนนิยมมาก ดังมาก ผมก็จะบอกว่าอย่างนี้เหมาะกับ Google มากกว่า แต่ว่าถ้าจะเอารวม ๆ คร่าว ๆ เอาให้กระชับด้วยก็คือ Google จะเหมาะเป็นพิเศษมาก ๆ กับสินค้าอุตสาหกรรม พวกเครื่องจักร พวกอะไรที่เป็นแบบ ลูกค้าเราเป็นบริษัทหรือเป็นโรงงานถ้าศัพท์ธุรกิจเขาจะเรียก B2B (business to business) อย่างเช่น รับทำบัญชี รับเหมาก่อสร้าง รับซ่อมแอร์ เป็นอะไรที่มันใช้เหตุผลในการเลือก มากกว่าใช้อารมณ์

แต่ว่า Facebook จะเหมาะมาก ๆ กับสินค้าอะไรที่ใช้อารมณ์มาก ๆ ในการเลือก สมมติแบบมีร่มสวย ๆ มีต่างหู เครื่องประดับ เสื้อผ้าสวย ๆ รองเท้ากระเป๋าสวย ๆ หรือว่าเป็นพวกอะไรที่มันมีแบบเยอะ ๆ มีสีเยอะ ๆ หรือว่าร้านอาหาร เมนูอาหารใช้อารมณ์ในการเห็นในการเลือก ก็จะเอียง ๆ ไปทาง Facebook มากกว่าแต่ถามว่าบางอย่างมันทำบน Google ได้ไหม พวกอารมณ์ก็ทำได้

http://www.pakorn.in.th/facebook-advertising/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%81-interest-facebook/

สมมติตอนจะเสิร์ชหาที่ไปเที่ยว เราเสิร์ชใน Google ใช่ไหม? เราไม่ทำหรอกไปเสิร์ชใน Facebook ว่าที่เที่ยวพัทยาเที่ยวไหนดี แต่ถามว่าเวลาเราจะหาซื้อเสื้อผ้า หาซื้อต่างหู กระเป๋า บางคนก็เลือกไปเสิร์ชใน Facebook หรือบางคนเลือกไปเสิร์ชใน Instagram ด้วยซ้ำ ส่วนคนที่เลือกเสิร์ช Google ถามว่าเสิร์ชแล้วทำอย่างไร

โดยมากเสิร์ชไปแล้วก็กดไปดูรูป แปลว่าจริง ๆ อะไรที่มันเป็นอารมณ์ ๆ หรือว่าเป็นดีไซน์ เป็นอะไร ที่มันไม่มีตรรกะชัด ๆ ในการเลือก คนจะแบบ เขาใช้คำว่า bounce ก็คือแบบเลือกดู ดูเยอะ ๆ ฉันดูให้แบบ เพลินอ่ะ เหมือนสาว ๆ คือเข้าไปในร้านเสื้อผ้า คือขอให้ได้ดูได้ไปจับ ๆ หน่อยสบายใจแล้ว เหมือนกันคือใน Facebook  ก็คือแบบดูเพลิน ซึ่งฟิลลิ่งในการดูใน Google มันจะไม่เพลินเหมือนอย่างนั้น มันจะต่างกันนิดหน่อย

แต่ว่าในการที่เราจะใช้ตรรกะ ใช้ logic ในการเลือกอะไรสักอย่าง เช่น เราจะเลือกที่ทำงาน สมมติเราจะเลือกสมัครงาน ไม่ค่อยใช้อารมณ์ เสิร์ชใน Google มันจะมีคำอธิบาย มันจะมีคำตอบที่มันได้เหตุผลในการตัดสินใจ เลือกที่เรียนอย่างนี้ เราคงไม่ไปเสิร์ชใน Facebook ว่า จะเรียนต่อที่ไหนคณะอะไร คืออาจจะมีคนทำนะแต่คงน้อย

ถ้าจะเอาสั้น ๆ กระชับ ๆ เราก็ต้องดูว่าลูกค้าเรา ใช้อะไรในการเลือกซื้อสินค้าเรามากกว่ากัน ระหว่างเหตุผล ตรรกะกับอารมณ์ แล้วก็แบบ ดีไซน์ อรรถรส อะไรอถ้าเป็นแบบดีไซน์ อรรถรส ก็จะเหมาะกับ Facebook มากกว่า ถ้าเป็นตรรกะมาก ๆ ใช้เหตุผลก็จะเหมาะกับ Google

สมมติว่าเคสมือถือธรรมดาลายน่ารัก ๆ เฉย ๆ ถ้ามาขายในช่องทางของ Google อย่างนี้ไม่รุ่ง แต่ถ้าบอกว่าเราเป็นเคสน่ารัก ๆ ลายคิตตี้ แต่ถ้าคนเสิร์ชคิตตี้ ได้ลุ้นแล้วมีโอกาสขายได้สูงเลยแหละ

อย่างธุรกิจทัวร์ ถามผมก็คือเหมาะทั้งสองอย่าง คือมันใช้อารมณ์ด้วย เห็นภาพภูเขาฟูจิสวย ๆ เห็นแล้วแบบอยากไป แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคนเสิร์ชใน Google ว่า ทัวร์ภูเขาฟูจิเดือนเมษายน 2561 อันนี้มันก็คือตรรกะแล้ว มองในแง่หนึ่ง มันไม่ใช่อารมณ์แล้ว แสดงว่าเขามีเหตุผลแล้วนะเขาถึงได้เสิร์ช อย่างนี้มันก็จะขายง่าย แต่นิดหนึ่งถ้าเราไปใช้ Google แล้วเราซื้อ keywords แบบ “เที่ยวญี่ปุ่นที่ไหนดี” หรือ “เที่ยวที่ไหนดี” หรือ “เที่ยว” คนเสิร์ชคำว่า “เที่ยว” เฉย ๆ คือฟุ้งมาก อารมณ์เยอะ อย่างนี้ก็จะขายไม่ได้ขายยาก