ทำไม? เจอหน้าผมบ่อย

เพราะผม ใช้เทคนิคโฆษณาแบบหนึ่งเรียกว่า “Remarketing”

ฝั่ง Google จะเรียกว่า Remarketing

ฝั่ง Facebook เรียกว่า Retargeting

แปลง่าย ๆ Re ก็คือซ้ำ แล้วก็ marketing คือทำการตลาด ก็คือ ทำการตลาดซ้ำ ๆ

ซึ่งมันเป็นวิธีที่ Google กับ Facebook เขาทำขึ้นมา Google เป็นคนบุกเบิกก่อนวิธีนี้ ที่มาที่ไปของการที่เขาทำตัวนี้ขึ้นมา Remarketing เพราะว่า เขาไปเจอสถิติตัวหนึ่งว่า ปกติเวลาคนเข้าไปดูเว็บซื้อของ

สมมติเข้าไปร้อยคน มีแค่ประมาณ 1-4 คน ที่เข้าไปครั้งแรกแล้วจะตัดสินใจทันที ตัดสินใจในที่นี้คือตัดสินใจโทร ตัดสินใจซื้อ ตัดสินใจขอใบเสนอราคา ทีนี้ถามว่า แล้วอีก 96-99 คน ทุกวัน ๆ ก็จะออกจากเว็บเราไป

เนื่องจากเดี๋ยวนี้เว็บมันก็เยอะ ตัวเลือกมันก็เยอะ คอนเทนต์ใน Facebook ก็เยอะ วัน ๆ หนึ่งเราเจอแบรนด์ เราตื่นเช้าขึ้นมาจนถึงนอนผมว่ามี 30-40 แบรนด์นะ ตื่นขึ้นมาเจอ Samsung เจอ Apple เจอเว็บนู้นเว็บนี้

ดังนั้น โอกาสที่เราจะจำเว็บ ๆ หนึ่งที่เราเพิ่งเข้า Google ไป มันค่อนข้างยาก คือจำว่า WWW. อะไร เพราะแค่ตอนนั้นเราก็ดูไป 4-5 เจ้าเปรียบเทียบกัน จริง ๆ แล้วจากประสบการณ์ ผมเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้เยอะนะ

สมมติว่าลูกค้าผมเขาทำการตลาด แล้วลูกค้าของลูกค้าผมอีกที ก็คือคนที่จะมาซื้อของลูกค้าผม เขาจะชอบพูดทำนองว่า

“เคยเห็นของคุณแล้วชอบ”

“นึกตั้งนานว่าเว็บชื่ออะไร”

แล้วก็กลับมาไม่ถูก แล้วสุดท้ายทำอย่างไร ก็ต้องไปซื้อคนอื่น อันนั้นมันก็เลยทำให้คนที่ทำการตลาด แล้วไม่ทำ Remarketing มีค่าเสียโอกาสมหาศาลเลย เพราะว่า เสียเงินไปรอบแรกแล้วแต่มีแค่ 1% เป็นลูกค้า ส่วนอีก 99 คนก็คือลืมบ้างอะไรบ้าง ไปตัดสินใจ ไปคิด แล้วก็หายไป แล้วอีกอย่างหนึ่งคือคนส่วนใหญ่โดยธรรมชาติมีนิสัยชอบผลัด  ถ้ายังไม่รีบ ยังไม่จำเป็น ยังไม่จี้ก้นสุด ๆ

สมมติว่าเราต้องไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วเราก็จองตั๋วจองอะไรแล้ว สมมติว่าเรายังไม่เตรียมโปรแกรมเที่ยวให้ดี หรือว่ายังไม่ได้ไปซื้อเสื้อผ้าเสื้อกันหนาว ต้องใช้คำว่าส่วนใหญ่จริง ๆ นะ คือแบบ ถ้าไม่สุด ๆ แล้วไม่ใกล้จริง ๆ ก็จัดการทุกอย่างไม่เสร็จสักที คือจะเลื่อน ๆ ไปก่อน ดังนั้น บางทีเขามาหาข้อมูลไว้แล้ว แล้วก็ลืมไป

Remarketing จึงเป็นโฆษณาที่ตามให้คนเห็นซ้ำ ๆ แล้วก็มีประโยชน์ด้วยกัน 3 ข้อ หลัก ๆ นะจากประสบการณ์ผม

เวลาคนเขาเห็นอะไรซ้ำๆ จะจำได้โดยอัตโนมัติ เหมือนกับสมัยยุค 90 เพลง RS/Grammy อะไรที่ติดชาร์ต ไม่รู้ว่ามันดังแล้วก็เลยติดชาร์ต หรือว่าติดชาร์ตก่อนก็เลยดัง พอมันติดชาร์ตวิทยุ เขาก็เปิดซ้ำ พอซ้ำเราก็ร้องตามได้เราก็คุ้นเคย เพราะหรือไม่เพราะไม่รู้ แต่ว่าร้องได้ แล้วคนก็เอาไปร้องต่อ เอาไปเล่นดนตรีเอาไปอะไร ก็กลายเป็นเพลงดัง คือคนจำได้ คนที่ร้องก็กลายเป็นคนดัง แต่ถามว่ามีสักกี่คนที่จำคนแต่งเพลงได้ เพราะไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครเอ่ยชื่อขึ้นมา อันนี้ก็คือประโยชน์ของการซ้ำ มันทำให้คนจำเราได้อัตโนมัติ ดังนั้น เวลาเราทำการตลาด บางคนจะต้องการให้คนจำได้

การให้จำได้มันมี 3 เรื่องหลัก

1.ให้เขาเห็นเรา ถ้าเขาไม่เห็นก็ไม่มีทางจำได้

2.ของเราอาจจะไม่น่าสนใจเท่าไหร่ หรือข้อความโฆษณาตัวแบรนด์ธรรมดามากสุด ๆ แต่ถ้าใช้วิธีซ้ำ ๆ ยังไงมันก็ต้องจำได้

3.ตัวคอนเทนต์หรือว่าตัวแบรนด์น่าสนใจมาก ครีเอทีฟมาก หรือเกี่ยวกับเรามาก ๆ เช่น สมมติเป็นตัวการ์ตูน ใช้ดาราดัง หรือว่าวิธีนำเสนอเขาแปลกมากอะไร แม้ว่าจะไม่บ่อยคนก็จะจำได้ ดังนั้น ความครีเอทีฟก็จะสู้เอเจนซี่โฆษณา มืออาชีพที่เขาคิดงานครีเอทีฟมาตลอดชีวิตไม่ได้หรอกโดยเฉลี่ย

ดังนั้น ถ้าเราอยากให้คนจำได้ แล้วครีเอทีฟเราไม่ได้แข็งแรงมาก การใช้โฆษณา Remarketing จะทำให้ลูกค้าจำแบรนด์เราได้แบบแน่นอน โดยที่ไม่ต้องใช้ฝีมือเยอะ ใช้คำนี้

ใช้เงินซื้อโฆษณาเอาแล้วก็ใช้น้อยด้วย เพราะว่า Remarketing ฝั่ง Google ก็คือ เวลาคนไปเห็นซ้ำ ๆ ๆ เราไม่เสียเงินเลยนะ ยกเว้นแต่เขาไปคลิก คือ ถ้าเป็นแบนเนอร์ที่ไปตาม ถ้าคลิกอันนี้เสียเงิน ถ้าไม่คลิกคือไม่เสียเงินเลย คือทำให้คนจำเราได้ฟรี

แต่ถ้าเป็น Youtube คือต้องดูอย่างน้อย 30 วินาทีโดยไม่กด skip ถึงจะไม่เสียเงิน หลานผมเวลาไปที่บ้านก็จะแบบ หนาวเหนือเห็นลุงเบิร์ดทั้งวันเลยนะใน Youtube ผมก็จะแบบ หนาวเหนือ รู้ไหมว่า ถ้าหนาวเหนือดูจนถึง 30 วินาทีลุงเบิร์ดจะเสียเงิน แล้วลุงเบิร์ดจะรู้นะว่าหนาวเหนือเป็นคนดู ลุงเบิร์ดจะส่งบิลมาเก็บเงินค่าขนม แต่จริง ๆ เขาไม่รู้นะว่าหลานผมดู “หลอกไว้เฉย ๆ” >< จะได้กดข้ามไป แล้วไปเจออีกทีก็แบบ ลุงเบิร์ดเดี๋ยวนี้หนาวเหนือกดข้ามให้ตลอดเลยนะ หนาวเหนือไม่เคยดูครบเลย อันนี้ก็เป็นข้อดีใช่ไหม

แต่ว่าใน Facebook  เขาเก็บเป็น impressions อยู่แล้ว คือหมายถึงว่า คนเห็นโฆษณาซ้ำ เห็นแล้วก็เก็บเงินเลย แต่ว่าอันนี้เป็น ข้อดีข้อที่หนึ่ง คือมันทำให้คนจำเราได้ ใช่ไหม ข้อดีข้อที่สอง ก็คือ ทำให้คนมีโอกาสซื้อเราสูงขึ้น

เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นสินค้า ที่ซื้อง่ายหรือซื้อยาก ตัวคนเราไม่สามารถ เห็นปุ๊บ คิดปั๊บ ซื้อปุ๊บ ตลอด มีสักกี่ครั้งในชีวิตเรา ที่เราเข้าเว็บหนึ่งครั้งแล้วซื้อทันที โดยส่วนใหญ่แล้วก็คือ เราจะเปรียบเทียบ เราจะคิด เราจะลังเลแล้วก็ไปซื้ออีกที หลังจากนั้นอาจจะ  2 3 4 5 6 ครั้งที่ 7 ด้วยซ้ำ ดังนั้น

เวลาเราทำ Remarketing เพิ่ม โอกาสที่ยอดจะเพิ่มมันสูงมาก เพราะว่าเราไปตาม 99 คน ที่เขาสนใจเรามาก่อนหน้านี้เขาก็จะเห็นเราซ้ำ ๆ คือ การซ้ำบางทีมันทำให้กิเลสขึ้นด้วยนะ

สมมติผมจะซื้อแว่น VR ที่ใส่เล่นเกมแบบสมจริงเสมือนจริง เห็นทีแรกก็ว่าจะดู ๆ ไว้ก่อนนะ แต่มันแบบ มันมาทุกวัน วันนี้ก็มาอีก ๆ วันดีคืนดีเราก็กดเข้าไปดู แล้วก็ไปอ่านมันมีโปรอะไรอย่างนี้มาอีก แล้วเราก็ข่มใจไม่เอาอีก แล้วมันก็ตามมาอีก ๆ วันแล้ววันเล่า มันก็อาจจะต้องโดนเข้าสักวัน

วันที่เราพร้อมหรือไปเจอเหตุการณ์อื่น เพื่อนก็ซื้อเหมือนกัน หรือว่าไปเจอใครรีวิวใน Facebook มันเข้ามาหาเราเพราะว่าเดี๋ยวนี้เราสนใจเรื่องหนึ่งมันลิงค์กันหมดแล้ว ไปสนใจใน Google ใน Youtube เดี๋ยว Facebook ก็ตามมา เราก็มีโอกาสซื้อสูงขึ้น

ดังนั้น แทบจะร้อยทั้งร้อย ถ้าทำการตลาดอยู่แล้ว แล้วทำ Remarketing ยอดขายขึ้นเกือบทุกคน แล้วก็ข้อสุดท้ายโดยจิตวิทยาอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเกิดเราเห็นใครหรือแบรนด์ไหนอยู่หลาย ๆ ที่ ธรรมชาติเราจะนึกว่าเขาใหญ่ น่าเชื่อถือ ดัง

สมมติเราลองนึกดูว่า เราเห็นน้ำสักยี่ห้อหนึ่ง ขายอยู่ในบิ๊กซี แล้วแบรนด์นี้เราไม่เคยเห็นเลย กับอีกแบรนด์หนึ่ง เราเคยเห็นใน Youtube เคยเห็นใน Facebook มาก่อน เห็นเพื่อนพูดถึงแล้วเห็นหลาย ๆ ที่ ธรรมชาติมันก็จะน่าเชื่อถือขึ้น

ทีนี้ก็จะมีคำถามคลาสสิคว่า…ทำ Remarketing คนเห็นซ้ำ ๆ แล้วคนจะรำคาญไหม?

จากความรู้สึกส่วนตัวของผมแล้วกันนะ ก็คือแบ่งเป็นธุรกิจ 2 ประเภท

ประเภทแรกคือไม่ค่อยใส่ใจเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ สินค้าอาจจะไม่ได้ราคาสูงมากนัก หรือว่าอาจจะยังห่วงอย่างอื่น มากกว่าภาพลักษณ์ ใช่ไหม อย่างอื่นที่ว่าก็คือเงิน คือห่วงเงินมากกว่าห่วงโล่ ว่าอย่างนั้นเถอะ ขอให้ยอดขายเพิ่ม จะรำคาญอะไรก็ไม่เป็นไร

กับอีกประเภทหนึ่งคือ สินค้า Luxury อยาก keep look ให้มันดีมาก ๆ เพราะว่าขายของแพง ไม่อยากให้คนรำคาญ กลัวเสียภาพลักษณ์

จากที่ผมรับลูกค้านะ ถ้าเขาไม่สนใจเรื่องภาพลักษณ์เรื่องแบรนด์  ในมุมหนึ่ง ตามไปเลย ตามให้แหลกลาญไปเลย เพราะว่าโดยมากยอดขายจะดีขึ้นเห็น ๆ เลยแล้วก็ดีขึ้นมากด้วย แล้วกำไรก็ดีด้วยนะ จากเฉพาะแคมเปญ Remarketing

ทีนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ผมจะบอกว่า มันมีคนประเภทนี้คือแบบ ตอนรำคาญก็รำคาญ แต่ตอนจะซื้อก็จำไม่ได้แล้วว่าเคยรำคาญนึกออกไหม เหมือนเราเจอ Lazada ทั้งวี่ทั้งวัน ถามว่าเรารำคาญไหม บางคนรำคาญใช่ไหม แต่ถามว่าตอนซื้อ นึกจะซื้อของออนไลน์ พิมพ์อะไร เข้าแอปพลิเคชันอะไร ถามว่า Lazada ของถูกนะเข้าไปซื้อ เก็บเงินปลายทางเกือบทุกอัน หาก็ง่ายตัวเลือกก็เยอะ แล้วมีไหมใครแบบ ไม่เอา รอบที่แล้วจำได้เลยแค้นเลยเห็นบ่อย ไม่ซื้อดีกว่ายอมไปซื้อของแพงอีกที่หนึ่ง มีหรือ ไม่มีหรอกใช่ไหม

“รำคาญกับซื้อบางทีมาไม่พร้อมกัน”

คือตอนจะซื้อก็จำไม่ได้แล้วว่าเคยรำคาญ ผมถามคนเรียนเคยถามหลายรุ่นแล้วนะว่า ใครรู้จัก Lazada บ้าง ทุกคนยกมือ ใครเคยเห็น Lazada บ่อย ๆ บ้าง ทุกคนยกมือ ใครรำคาญบ้าง หลายคนยกมือ แล้วคนรำคาญใครซื้อบ้าง ยกมือเกือบทุกคน อันนี้สำหรับธุรกิจเล็ก ๆ ก็จะเป็นอย่างนี้

ส่วนธุรกิจ luxury มีลูกค้าคนหนึ่งเขาเคยคุยกับผม เขาก็บอกว่า “คุณเบิร์ด คนถ้าไม่มีปัญญาซื้อ Benz” ตามให้ตายเขาก็ไม่มีปัญญาซื้ออยู่ดี เขาก็ไม่ซื้อหรอก แต่คนที่มีปัญญาซื้อคือ ไปถึง Test drive รอบเดียวซื้อเลยเงินสดด้วย สองสามล้านซื้อได้เลย

ดังนั้น บางครั้งสินค้าบางประเภทที่หรูมาก ๆ การไปตามซ้ำมาก ๆ นอกจากมันไม่ทำให้คนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว คือซื้อไม่ไหวอยู่แล้ว ก็ไม่ซื้ออยู่ดี แต่เนื่องจากคนที่มีกำลังซื้อสูง ๆ ไปอีกกลุ่มหนึ่ง คือก็จะมีความ emotional มีความติสท์อะไรของเขา ที่แบบฉันอยากจะเลือกแบบนั้นแบบนี้ ฉันไม่อยากจะซ้ำใครเยอะ ธรรมชาติของ ของแพงของ luxury  ของที่มันจะรู้สึกว่า luxury ได้ มันต้องมีคนครอบครองน้อย

คือ ถ้าสมมติ วันหนึ่ง Benz มาจัด clearance คือลดล้างสต๊อก Benz แล้วคนก็ขับกันเกลื่อน แบบใครก็ซื้อได้ คนที่มีปัญญาซื้อของแพง ๆ ก็คิดว่าเบนซ์ไม่ใช่แล้ว นี่คือเหตุผลที่มันแพง คือคนยอมจ่ายเพื่อให้รู้สึกฟินว่า ฉันมีปัญญาซื้อมากกว่าคนส่วนใหญ่ นี่มันเป็นเทคนิค

ดังนั้นถามว่า คนกลุ่มนี้จะใช้ Remarketing ได้ไหม ก็ต้องบอกว่าใช้ได้อยู่ดี เพราะว่าจริง ๆ Remarketing เราสามารถ limit ความถี่ได้ เราสามารถ limit ได้ว่าวันหนึ่งคนเห็นซ้ำไม่เกินกี่ครั้ง เช่น แบบวันหนึ่งคนเดียวกัน  เคยเห็นของแบรนด์นี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้จะไม่เห็นอีกแล้วเห็นอีกทีพรุ่งนี้ หรือจะ limit เป็นสัปดาห์ก็ได้นะ

“สัปดาห์นี้เห็นไปแล้วครั้งหนึ่งไม่เห็นอีกแล้ว”

“เดือนนี้เห็นไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่เห็นอีกแล้ว”

หรือจะเอาสัปดาห์นี้เห็นไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 จะไม่เจออีกแล้ว ต้องรอสัปดาห์ถัดไป

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าของเราไปอยู่ที่หน้า Feed ใคร หน้าเว็บใคร หน้า Youtube ของใคร?

อันนี้ มันมีรีพอร์ตดูได้ว่าเราไปอยู่ที่ไหนบ้าง โชว์ที่ไหนบ้างที่ไหนเขาคลิกเยอะคลิกน้อย ที่ไหนคลิกแล้วมีการซื้อของเราจริงอะไรอย่างนี้ คือดูได้หมด

เราเลือกได้ไหมว่าเราจะให้ใครเห็น?

โดยมากเขาก็จะเลือกว่า เอาไปให้คนแบบไหนเห็น แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เรากำหนดเอาไว้แล้วก็คือ เอาคนที่เคยมาเจอมาแล้ว มันก็เลยเรียกว่า Re ก็คือตาม เช่นคนเคยเข้าเว็บเราเคยดู Youtube เรา เข้ามาใน Facebook เคยมี engage กับตัวโพสต์อย่างนี้ พวกนี้ก็จะโดนตาม

สมมติไม่เคยเข้าไปเจอผมเลยจะมีทางที่จะผมเห็นไหม?

จะไม่เห็นด้วย Remarketing แต่อาจจะเห็นด้วยอย่างอื่นที่ยิงไปอีก อันนี้เป็นแบบเพื่อตามอย่างเดียว

จริง ๆ มันก็มีประโยชน์หลายอย่างนะ เช่น คนซื้อไปแล้ว แล้วเราอยากให้เขาซื้อซ้ำใช่ไหม ของบางอย่างที่มันต้องซื้อซ้ำ อาหารเสริม สมุนไพรอะไร หรือของที่มันใช้แล้วหมด สบู่อะไร ของกิน ร้านอาหารที่มันมากินซ้ำ ๆ ได้ โรงแรมที่มันมาพักซ้ำได้ หรือ Cross-Selling หรือ Up-Selling ขายโน้ตบุ๊คก็อยากจะให้เขาซื้อกระเป๋าโน้ตบุ๊คด้วย ขายมือถือก็อยากจะให้เขาซื้อเคสด้วย ขายรถไปแล้วก็อยากให้เขาซื้อกล้องติดรถด้วย หรือขายเพิ่ม สมมติเคยสั่งอาหารคลีนหนึ่งกล่องทำไมไม่สั่งทั้งเดือนไปเลยได้ถูกกว่าอย่างนี้ก็ได้ครับ

ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยเจอเราเลย แล้วเราคิดว่าเขาเป็นลูกค้าเราได้จะทำให้เขามาเจอเราอย่างไร?

อันนี้ก็เป็นเรื่องโฆษณาแล้ว ซึ่งอันนี้จริง ๆ ยาวมาก ก็คือจริง ๆ อยู่ในอีกคลิปหนึ่งอยู่แล้ว ที่เคยบอกว่าต้องรู้จักลูกค้า ลูกค้าอยู่ที่ไหน แล้วก็สมมติเขาอยู่ใน Facebook ใน Google ใน Youtube ก็จะแบ่งเป็นช่องทางฟรีช่องทางเสียเงิน ช่องทางฟรีก็มีวิธีอย่างนี้ ช่องทางเสียเงินก็ทำอย่างนี้ ๆ แล้วเราก็เลือกว่าใน Google คนเขาพิมพ์ว่าอะไรแล้วจะเจอเราก็คือซื้อ Keywords ใน Facebook ก็คือเขาสนใจเรื่องอะไรอยู่ แล้วเราก็เลือกคนที่สนใจเรื่องนั้นเขาก็จะเจอเรา แล้วคือถ้ายิงค่อนข้างตรง คือคนเขาเป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว เขาก็จะมีโอกาสมา engage มาคลิกมาไลค์ มาดูวีดีโอเรา คลิกหนึ่งก็จะโดนตามแล้วคราวนี้ เดี๋ยวนี้เทคนิคนี้เริ่มจะแพร่หลายมากขึ้นแล้ว คือถ้ามีคนทำหลายคน มันก็จะสลับ ๆ แบ่ง ๆ กัน

ทีนี้บางทีก็จะมีคนถามว่า อ้าว แล้วถ้าเขาทำกันหมดแล้วเราทำแล้วยังจะเวิร์คอยู่ไหมมันก็จะอารมณ์เหมือนจะถามว่า คนอื่นเขาใช้มือถือเล่นอินเตอร์เน็ตกันหมด แล้วเราเล่นอินเตอร์เน็ตเหมือนกันเรายังเวิร์คอยู่ไหม มันเหมือนกันแหละคือถ้าเราไม่ใช้เราก็เสียเปรียบเอาอย่างนี้ดีกว่า แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือมันก็มีความลึกของมัน คือหมายถึงว่าถ้าเรามองว่าเป็นแค่การตาม มันก็จะเป็นแค่การตาม

แต่ถ้าเรามองลึกลงไปว่าคนที่ตาม ก็แบ่งเป็นหลายประเภทอีกนะ แบ่งเป็นคนที่เข้ามาเว็บเราแป๊บเดียวแล้วออก หรือเข้ามาดูเว็บนาน ๆ 3 นาทีแล้วออก 3 นาทีนี้จริง ๆ อาจจะมีโอกาสซื้อมากกว่า หรือบางคนเข้ามาดูคลิปเราจนจบ กับบางคนดูคลิปเราแค่ 2-3 วินาทีแล้วก็ออก คุณค่ามันก็ไม่เท่ากัน หรือบางคนเข้ามาไม่มีโอกาสมาเป็นลูกค้า มาสมัครงาน ไม่มีโอกาสมาเป็นลูกค้าใช่ไหม

จริง ๆ ที่ถูกต้องเราควรจะต้องหาทางไม่ให้เห็น เพราะว่ามันจะประหยัดเงินขึ้น คือเราลองนึกถึงโรงแรมใหญ่ ๆ สักโรงแรมหนึ่ง พนักงานเขาเป็นร้อย ก็เห็นทุกวันเป็นร้อยนะ แล้วเขาก็ไม่รู้เรื่องด้วยเขาก็จะคลิกเอาด้วย

แต่ว่าอย่าง SME ผมก็มองว่ามันนิด ๆ หน่อย ๆ ถามว่าทำดีไหมมันก็ดี แต่ว่ามันก็ช่วยอะไรไม่เยอะ คนตามเรา 5-6 หมื่นถึงแสนคน พนักงาน 5-10 คนอย่างนี้ มันไม่ได้อะไรมากมายก็ปล่อย ๆ มันไป

แต่ประเด็นคือมันมีความลึกของมัน ใน Remarketing แล้วก็คอนเทนต์ที่ใช้ก็จะเป็นตัวที่ดูว่าใครชนะหรือแพ้ กับวิธีคิดของคนที่ทำ เช่น บางคนเอาแบนเนอร์ธรรมดา ๆ ไปตามก็จะได้อย่างหนึ่ง บางคนเอาแบนเนอร์แล้วมีโปรโมชั่น ก็จะกระตุ้นได้ดีกว่า บางคนเอาแบนเนอร์ มีโปรโมชั่นแล้วมีเวลาจำกัดด้วย

สมมติ เหลือ 3 ชิ้นสุดท้าย 2 ชิ้นสุดท้าย อันนี้คนก็จะตื่นเต้นกว่า บางคนคิดต่างไปเลยคือไม่ขายของเลย แบบให้ความรู้อย่างเดียว วนเรื่องโน้นเรื่องนี้ อย่างนี้ก็อาจจะส่งผลอีกแบบ คนอาจจะเชื่อมั่น บอกต่อ ตอนแรก ๆ อาจจะซื้อน้อย มันก็มีความลึกความกว้างของมัน ทั้ง ๆ ที่แบบทำ Remarketing เหมือนกัน